แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
มนุษย์ส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานและกระทำการใด ๆ
ตามความรู้ ความเชื่อ และแนวคิดของตนเอง
ดังนั้น การที่ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู
และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
จะกระทำการและปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
จึงขึ้นอยู่กับความรู้และแนวคิดที่มีเหตุผลและความถูกต้อง อันจะเป็นแนวทาง
ขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว
ความสำคัญของหลักสูตรสถานศึกษา
ในอดีตสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายตามหลักสูตรกลางที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้เท่านั้น
ปัจจุบันแนวความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไป
มีการกระจายอำนาจและมอบหมายให้สถานศึกษามีอำนาจตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
จึงมีผู้นำแนวความคิดนี้บรรจุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
เพื่อให้บังเกิดผลในการปฏิบัติ ดังข้อความในวรรคสอง มาตรา 27 ที่ ว่า
ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ใน วรรคหนึ่ง
ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
(สำนักงานปฏิรูปการศึกษา ม.ป.ป.: 15)
จากข้อความตามวรรคนี้แสดงว่า
สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
จะต้องจัดทำสาระในรายละเอียดตามกรอบของหลักสูตรแกนกลางและจัดทำหลักสูตรอื่นบางส่วนเพิ่มเติม
เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนและความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นบทบาทของสถานศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารและคณะครูจะต้องรับผิดชอบงานทางด้านการจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรในทุกเนื้อหาสาระเพิ่มเติม
ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นให้มากที่สุด
ประกอบกับสถานศึกษามีบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะกำหนด
รายละเอียดสาระของหลักสูตรเพิ่มเติมได้เอง
ในการพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษานั้น
นอกจากเป็นบทบาทของบุคลากรของสถานศึกษาโดยตรงแล้ว
สถานศึกษาอาจเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ
มาช่วยจัดทำหลักสูตรให้แก่สถานศึกษาได้ มาช (Marsh, 1997:
8) ได้กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดทำหลักสูตรให้แก่โรงเรียนมาจากหลายแหล่ง
จากบุคลากรในโรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มบุคคลจากอุตสาหกรรมและชุมชน
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจนถึงนักการเมือง
การที่บุคคลของสถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร โดยเฉพาะผู้บริหารและครูผู้สอน
จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าถึงและเข้าใจความสำคัญ ทิศ
ทางของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง
เพราะได้มีการอภิปราย การตรวจสอบ และการหาข้อยุติอย่างรอบคอบ
เป็นที่แน่ชัดว่าการจัดการเรียนการสอนของครูที่ดำเนินตามหลักสูตรที่ตนมี
ส่วนร่วมสร้างขึ้นมาเอง
จะทำให้การจัดการสอนสนองความต้องการของผู้เรียนและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วาง
ไว้มากกว่าการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มีผู้กำหนดมาให้เรียบร้อยแล้ว
นัก วิชาการด้านการพัฒนาหลักสูตรต่างเห็นพ้องต้องกันว่า
การกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรเป็นเรื่องจำเป็นและมี
ความสำคัญ
จึงบัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวกับแนวคิดในการสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตร
เองไว้มากมาย เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน (School-based
curriculum development) การพัฒนาหลักสูตรที่ยึดโรงเรียนเป็นหลัก (School-focused
curriculum development) พร้อมทั้งมีความพยายามที่จะมอบอำนาจการตัดสินใจและการบริหารจัดการให้แก่ครูใหญ่หรือผู้บริหารโรงเรียน
โดยบัญญัติศัพท์เรียกแนวความคิดนี้ว่า
การบริหารจัดการที่ยึดแหล่งปฏิบัติการเป็นฐาน (Site-based Management) หรือการบริหารจัดการที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน
(School-based Management) เป็นต้น
สเตอร์แมน (Sturman, 1989)
ได้สรุปถึงประโยชน์หรือข้อดีของการกระจายอำนาจทั้งการบริหารจัดการและการพัฒนาหลักสูตรไปสู่สถานศึกษาไว้ดังนี้
1.
มีความสามารถที่จะตัดสินใจให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของท้องถิ่นได้ดีขึ้น
2.
มีศักยภาพที่จะสร้างความกระตือรือร้นระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
3.
มีศักยภาพที่จะส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ดีขึ้น
โดยชักจูงการดึงให้บุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมการตัดสินใจมากขึ้น
4.
มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างการทำงานที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมมากขึ้น
5.
มีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากขึ้น
หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้โครงสร้างการทำงานแบบเดิมลง
6.
มีศักยภาพในการนำทรัพยากรของรัฐมาใช้ เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการที่เหมาะสมมากขึ้น
7.
ลดความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ
8.
เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม
9.
ส่งเสริมการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นวัตถุวิสัย
ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่สถานศึกษาได้จัดทำหลักสูตรขึ้นใช้เอง
ก็คือสามารถสนองความต้องการ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
แม้หลักสูตรกลางจะกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า “เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนค้นพบความสามารถ
ความถนัด และความสนใจของตนเอง” (กระทรวงศึกษาธิการ 2533: 1)
แต่ก็มักจะไม่ค่อยบรรลุเจตนารมณ์ที่วางไว้แม้ในอดีตและปัจจุบัน
ทั้งนี้เพราะโดยข้อเท็จจริง
สภาพโรงเรียนและธรรมชาติของผู้เรียนในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างและความหลากหลายค่อนข้างสูง
เนื้อหาสาระและรายวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดจากส่วนกลางไม่สามารถสนองความต้องการเฉพาะดังกล่าวของโรงเรียนได้
การส่งเสริมให้โรงเรียนกำหนดรายละเอียดของ
หรือหลักสูตรแกนกลางหลักสูตรในบางรายวิชาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและความต้องการของผู้เรียน
จึงเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาความจำกัดของความหลากหลายของหลักสูตรได้
5.1.2
วิธีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
โดยหลักการทั่วไป ขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรในระดับชาติหรือระดับสถานศึกษา
จะ มีวิธีดำเนินการในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ เริ่มด้วยการกำหนดจุดหมายของหลักสูตร
การกำหนดเนื้อหาสาระ การนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินหลักสูตร และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
อย่างไรก็ตาม แต่ละขั้นตอนอาจมีการกระจายกิจกรรมให้ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้นได้
เพื่อให้เหมาะสมกับธรรมชาติของหลักสูตรแต่ละระดับหรือแต่ละประเภท
ทาบา (Taba, 1962) นักพัฒนาหลักสูตรชาวอเมริกัน
ให้ความเห็นสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นผู้จัดทำหลักสูตรเอง
โดยยึดหลักการดำเนินการจากระดับล่างหรือระดับรากหญ้า ทาบามีความเชื่อว่าครูใน
โรงเรียนซึ่งเป็นผู้สอนโดยตรงควรจะเป็นผู้จัดทำหลักสูตรเองมากกว่าส่วนกลางหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้จัดทำและ
จัดส่งมาให้ และกล่าวว่าครูควรจะเริ่มกระบวนการพัฒนาหลักสูตรจากการสร้างหน่วยการเรียน
การสอนในเนื้อหาเฉพาะสำหรับเด็กในโรงเรียนก่อน
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้
ทาบา (Taba, 1962)
ได้กำหนดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในระดับโรงเรียนออกเป็น 5 ขั้นตอน
ซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับบริบทของประเทศไทย ดังนี้
1. การผลิตหน่วยการเรียนการสอนหรือหลักสูตรเฉพาะรายวิชา
การดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะนำร่องกระบวนการจัดทำหลักสูตรในลักษณะหน่วยการเรียนหรือหลักสูตรเฉพาะรายวิชา
มี
กิจกรรมดำเนินการ 8 ประการ ดังนี้
1.1
การวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน
ในขั้นนี้คณะกรรมการหลักสูตรของโรงเรียนจะสำรวจความต้องการของผู้เรียนเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำหลักสูตร
โดยพิจารณาจากช่องว่าง จุดบกพร่องและความหลากหลายแห่งภูมิหลังของผู้เรียน
1.2 การกำหนดจุดหมาย
ภายหลังจากได้วิเคราะห์ความต้องการของนักเรียนแล้ว
ผู้วางแผนหลักสูตรจะช่วยกันกำหนดจุดหมายที่ต้องการ
1.3 การเลือกเนื้อหา
เนื้อหาสาระหรือหัวข้อเนื้อหาที่จะนำมาศึกษาได้มาโดยตรงจากจุดหมาย
คณะผู้ทำหลักสูตรไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณาจุดหมายในการเลือกเนื้อหาเท่านั้น
แต่จะต้องพิจารณาความสอดคล้องและความสำคัญของเนื้อหาที่เลือกด้วย
1.4 การจัดเนื้อหา เมื่อได้เนื้อหาสาระแล้ว งานขั้นต่อไปคือ การจัดลำดับเนื้อหา
ซึ่งอาจจัดตามลำดับจากเนื้อหาที่ง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยาก หรืออาจจัดตามลักษณะหรือธรรมชาติของเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนเรียน
รู้
การจัดเนื้อหาที่เหมาะสมควรจะสอดรับกับวุฒิภาวะของผู้เรียน ความพร้อม
ของผู้เรียนและระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
1.5
การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องเลือกวิธีการหรือยุทธวิธีที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้กับเนื้อหาได้
นักเรียนจะทำความเข้าใจเนื้อหาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่นักวางแผนหลักสูตรและครูเป็นผู้เลือก
1.6
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูเป็นผู้ตัดสินวิธีการที่จะจัดและกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ และการจัด ลำดับขั้นตอนของการใช้กิจกรรม
ในขั้นนี้ครูจะปรับยุทธวิธีให้เหมาะกับนักเรียนเฉพาะกลุ่มที่ครูรับผิดชอบ
1.7
การกำหนดสิ่งที่จะต้องประเมินและวิธีการในการประเมิน
ครูผู้สอนในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรจะต้องประเมินและตรวจสอบให้ได้ว่าหลักสูตรดังกล่าวบรรลุจุดหมายหรือไม่ ครูผู้สอนจะ
ต้องเลือกเทคนิควิธีอย่างหลากหลายเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับการวัดผลสัมฤทธิ์ของ
ผู้เรียน และให้สามารถบอกได้ว่าจุดหมายของหลักสูตรได้รับการตอบสนองหรือไม่
1.8 การ ตรวจสอบความสมดุลและลำดับขั้นตอน ผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องมุ่งเน้นที่การจัด
ทำหลักสูตรหรือหน่วยการเรียนการสอนให้คงเส้นคงวาและสอดคล้องภายในตัวหลัก สูตรเอง
การดำเนินการในลักษณะนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่
เหมาะสมและเกิดความสมดุลในเนื้อหาและประเภทของการเรียนรู้
2.
การนำหลักสูตรหรือหน่วยการเรียนไปทดลองใช้
เมื่อคณะผู้รับผิดชอบหลักสูตรได้จัดทำหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรในรูปของสื่อหรือบทเรียนต่าง
ๆ เรียบร้อยแล้ว
คณะครูก็จะนำเอกสารหลักสูตร เหล่านั้นไปทดลองสอนในชั้นเรียนที่รับผิดชอบ
มีการสังเกต
วิเคราะห์และเก็บรวบรวมผลการใช้หลักสูตรและการจัดกิจการรมใน ชั้นเรียน
เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรให้สมบูรณ์ขึ้นในโอกาสต่อไป
3.
การปรับปรุงเนื้อหาในหลักสูตรให้สอดคล้องกัน ใน
ขั้นตอนนี้จะต้องปรับหน่วยการเรียนหรือหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการ
ของผู้เรียนอย่างแท้จริง
โดยพิจารณาความสอดคล้องระหว่างความสามารถของผู้
เรียนกับทรัพยากรที่โรงเรียนมีอยู่และกับพฤติกรรมการสอนของครู มีการรวบรวม ข้อจำกัดต่าง ๆ
ที่ได้จากการทดลองไว้ในคู่มือครู
เพื่อจะใช้เป็นข้อสังเกตและแนวทางที่จะ ช่วยให้ครูได้จัดกิจกรรม
การสอนอย่างรอบคอบ
4. การพัฒนากรอบงาน ภาย
หลังจากจัดทำบทเรียนหรือหลักสูตรรายวิชาต่าง ๆ จำนวนหนึ่งแล้ว
ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องตรวจสอบหลักสูตรและสื่อใน
แต่ละหน่วยหรือแต่ละรายวิชา ในประเด็นของความเหมาะสมและความเพียงพอของขอบข่ายเนื้อหา
และความเหมาะสมของการจัดลำดับเนื้อหา
ครูหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาหลักสูตรจะต้องรับผิดชอบจัดทำหลักการและเหตุผลของหลักสูตรโดยดำเนินการผ่านกระบวนการการพัฒนากรอบงาน
5.
การนำหลักสูตรไปใช้และเผยแพร่
เพื่อให้ครูที่เกี่ยวข้องนำหลักสูตรไปใช้จริงในระดับห้องเรียนอย่างได้ผล
จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องจัดฝึกอบรมครูประจำการอย่างเหมาะสม
กระบวน การพัฒนาหลักสูตรทั้ง 5
ขั้นตอนที่กล่าวมามีลักษณะที่เป็นเชิงวิชาการอยู่มาก ดังนั้นเมื่อมีการจัด
ทำหลักสูตรในสถานการณ์จริงผู้รับผิดชอบสามารถปรับปรุงกิจกรรมและขั้นตอนให้
เหมาะสมกับธรรมชาติของเนื้อหาวิชา
สภาพท้องถิ่นและเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตามในเวลาปฏิบัติงาน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถปรึกษาหารือกับ
ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ได้
ความ ได้เปรียบของการสร้างหลักสูตรโดยคณะบุคคลในสถานศึกษาก็คือ
สามารถตรวจสอบผลงานและปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมได้ตลอดเวลา เพราะมี
นักเรียนซึ่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทดลองใช้ในทุกขั้นตอนและตลอดเวลา
5.1.3
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตร
หลัก สูตรของสถานศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการ
เรียนการสอนที่สอดคล้องและสอดรับกับจุดหมายของหลักสูตร
เมื่อพิจารณาธรรมชาติของหลักสูตรโดยทั่วไปแล้ว
หลักสูตรของแต่ละรายวิชาจะ มีจุดเน้นในด้านหนึ่งด้านใดดังต่อไปนี้
ด้านที่หนึ่ง เป็นหลักสูตรที่เน้นทางด้านวิชาการหรือพุทธิพิสัย
(cognitive domain) ในลักษณะการส่งเสริมความรู้ ความคิดและสติปัญญา
ด้านที่สอง
เป็นหลักสูตรที่เน้นการเสริมสร้างทักษะทางกาย
ซึ่งเน้นกลไกของร่างกายในการกระทำกิจกรรมหรือทักษะพิสัย (psychomotor
domain) เช่น วิชาประเภทการงาน การอาชีพ
การพลศึกษา นาฎศิลป์และดนตรี เป็นต้น
ด้านที่สาม
เป็นหลักสูตรที่เน้นการปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม จริยธรรมและความประพฤติของผู้เรียน
หรือจิตพิสัย (affective domain)
เนื่องจากวิธีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ มีลักษณะการให้ความรู้
ความ เข้าใจ และการฝึกทักษะต่าง ๆ
ไว้จำนวนมากและหลากหลายอยู่แล้ว
จึงจะไม่อธิบายซ้ำ
เพราะการสอนในสองด้านแรกเป็นการสอนที่เน้นทางด้านพุทธิพิสัยและด้านปฏิบัติ
หรือทักษะพิสัย ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
เป็นการเรียนการสอนที่ตรงไปตรงมา
ตรวจสอบหรือประเมินผลได้ชัดเจนว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อีก
นัยหนึ่งก็คือสามารถบอกได้ว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้และบรรลุจุดหมายที่วาง
ไว้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องของการมุ่งผลสัมฤทธิ์แห่งการเรียนรู้ของผู้เรียน การวัดและ ประเมินผลก็สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้โดยตรง
ส่วนการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัย เป็นการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อนกว่า
เพราะเป้าหมายของการเรียนด้านนี้ต้องมุ่งถึงขั้นสามารถนำไปปฏิบัติด้วย
ไม่ใช่เพียงการรู้และการเข้าใจในเรื่องจริยธรรมหรือความดีเท่านั้น แต่ที่จำเป็นต้องเน้นการเรียนรู้ทางด้านจริยธรรมเป็นกรณีพิเศษ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช 2540
ได้ตระหนักถึงจริยธรรมและคุณธรรมของเยาวชนว่ามีความสำคัญอย่าง ยิ่ง จึงกำหนดไว้ในมาตรา 81 ว่า
รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความ รู้คู่คุณธรรม
(อักษราพิพัฒน์ 2543: 21)
ส่วนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ย้ำเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ในมาตรา 24 (4)
ว่า “จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ
อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา”
(สำนักงานปฏิรูปการศึกษา
ม.ป.ป. : 13)
ตามข้อเท็จจริง การศึกษาของประเทศไทยทุกระดับได้เน้นการปลูกฝังค่านิยม
จริยธรรม และคุณธรรมของผู้เรียนตลอดมา
แต่การดำเนินการสอนในเรื่องดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้มากนัก
เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้ทางจริยธรรมเป็นอย่างดี
แต่พฤติกรรมที่แสดงออกยังมิได้สอดคล้องกับความรู้ที่มี
ดังนั้นถ้าจะสอนให้นักเรียนประพฤติและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างแท้จริง จำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากการเรียนรู้ทางวิชาการในห้องเรียน
โคลเบอร์ก (Kohlberg, 1970
: 120 )
ได้กำหนดวิธีการสอนจริยธรรมที่ได้ผลกับนักเรียน 2
วิธี ดังนี้
วิธีแรก เป็นการสอนระดับห้องเรียน
ยึดการอภิปรายปัญหาจริยธรรมเพื่อมุ่งเน้นการหาเหตุผลที่ดีในการประพฤติตนให้เป็นคนดีตามหลักจริยธรรม
โดยยกกรณีปัญหาจริยธรรมมาเป็นสื่อในการอภิปราย การสอนตามวิธีการนี้
ครูต้องมีความสามารถในการดูแล
กระตุ้นและตะล่อมทิศทางในการหาเหตุผลที่เหมาะสมของผู้เรียนมาประกอบการอภิปราย
วิธีที่สอง เป็นการสอนจริยธรรมจากสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นจริง
เป็นหลักสูตรแฝง (Hidden curriculum) ซึ่งดูเหมือนว่าโคลเบอร์กจะให้ความสำคัญแก่การสอนจริยธรรมตามแนวหลักสูตรแฝงเช่นนี้มากกว่า
เช่นเดียวกับพอสเนอร์ (Posner, 1992
:11) ซึ่งให้ความสำคัญของหลักสูตรแฝงโดยกล่าวว่า
หลักสูตรแฝงเป็นหลักสูตรที่บุคลากรในโรงเรียนอาจไม่ได้รับรู้อย่างเป็นทางการ
แต่มีอิทธิพลโดยตรงต่อนักเรียนอย่างลุ่มลึกและยาวนานมากกว่าหลักสูตรที่เป็นทางการของโรงเรียน
นักพัฒนาหลักสูตรหลายคนเชื่อว่า
หลักสูตรที่เป็นทางการไม่สามารถสอนจริยธรรมและค่านิยมให้แก่นักเรียนได้ดีเท่าหลักสูตรแฝง
และเรียกชื่อหลักสูตรประเภทนี้หลายชื่อ เช่น Implicit curriculum (Goodlad,
1984)และ Unstudied curriculum (Saylor & Alexander, 1974)
ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับ หลักสูตรแฝง หรือ
Hidden curriculum
ในทำนองเดียวกัน นักสังคมวิทยาได้บัญญัติคำว่า “socialization” หรือ การขัดเกลาทางสังคมนำมาใช้อธิบายการเรียนรู้จริยธรรม
ค่านิยมและพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนที่ใกล้ชิดกับเด็ก ว่าเป็นการเรียนรู้จากตัวแบบหรือ
แบบอย่างของผู้ใหญ่
เด็กจะแยกไม่ออกว่าพฤติกรรมใดดีหรือพฤติกรรมใดไม่ดี
ถ้าผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กเป็นคนดี ผู้ใหญ่หรือสังคมจะต้องเสนอตัวแบบหรือตัวอย่างพฤติกรรมที่ดีงามให้เด็กได้
เลียนแบบ
การสอนจริยธรรมที่ไม่ได้ผลมักเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนให้เด็กปฏิบัติกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติ
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเด็กมักจะประพฤติและปฏิบัติตนตามที่ผู้ใหญ่หรือสังคมปฏิบัติกัน
มากกว่าที่ครูสอนหรือที่ผู้ใหญ่ปรารถนาจะให้เด็กนำไปประพฤติและปฏิบัติ
ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีพฤติกรรมแบบอย่างของผู้ใหญ่และสังคมที่ไม่พึงปรารถนาให้เห็นเป็นจำนวนมาก
แบบอย่างเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสอนจริยธรรมและคุณธรรมในครอบครัว และในโรงเรียน
ถ้าจะให้
การสอนจริยธรรมในโรงเรียนประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
ผู้บริหารและครูทุกคนในโรงเรียนต้องเข้าใจอิทธิพลของหลักสูตรแฝง
และต้องร่วมใจกันสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้จริยธรรมของ
นักเรียน กล่าวคือ ผู้บริหารจะต้องริเริ่มและประชุมหารือกับครูและบุคลากรทุกประเภทในโรงเรียน
เพื่อร่วมสร้างแบบอย่างที่ดีทางจริยธรรมให้แก่นักเรียน นั่นคือ
ถ้าจะสอนให้นักเรียนเป็นคนดี มีจริยธรรม ผู้บริหาร ครู
และบุคลากรในโรงเรียนทุกคนต้องประพฤติตนให้เป็นผู้มีจริยธรรมก่อน
มีการสร้างกฎเกณฑ์ มาตรฐานและระเบียบแบบแผนหรือวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เอื้อและส่งเสริมการเรียนรู้และการปฏิบัติตนเชิงจริยธรรมของผู้เรียนให้ถูกต้อง
นอกจากนี้
โรงเรียนจะต้องส่งเสริมการทำกิจกรรมพิเศษของนักเรียน เช่น โดยการจัดชุมนุม
สโมสร
และกิจกรรมพิเศษที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานและอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น
มีความเคารพต่อกัน
มีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกัน มีความรับผิดชอบซื่อสัตย์ต่อกัน และคุณสมบัติอื่นๆ ที่ส่งเสริมความมี จริยธรรม
แม้ในปัจจุบันนี้สถานศึกษาทั่วไปได้จัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่แล้ว
แต่ยังขาดคุณภาพและทิศทางของการจัดกิจกรรม ในโอกาสต่อไปนี้เมื่อสถานศึกษาได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินกิจกรรมการศึกษาเองทั้งหมด
ตามหลักการบริหารจัดการที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ผู้บริหารและครูอาจารย์ในโรงเรียนจะต้องมุ่งมั่นและร่วมมือกันวางแผน
กำหนดทิศทางและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมจริยธรรมของผู้เรียนตามแนวคิดและแนวทางที่ได้กล่าวมาแล้ว
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นแนวความคิดและแนวปฏิบัติทั่วไปอย่างกว้างๆ
เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรโดยสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ
เนื้อหาสาระในลำดับต่อไปจะกล่าวถึงแง่มุมและรายละเอียดของการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่นำไปปฏิบัติจริงต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น