ประโยชน์ของการเรียนการสอนโดยการใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น
การใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น มีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ดังนี้
1.ทำให้นักเรียนรู้จัก และใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆที่มีอยู่และหาได้ง่าย ในท้องถิ่นของตน สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษามาพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่หรือการนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ สามารถปรับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น จึงสามารถอยู่กับท้องถิ่นได้อย่างเป็นสุข
2.ทำให้นักเรียนรัก ภูมิใจ มองเห็นคุณค่า หวงแหน อนุรักษ์ และช่วยทำนุบำรุงรักษาท้องถิ่นของตน เพราะนักเรียนได้พึ่งพาแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ที่มีในท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพของตน ถ้าแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ต้องศูนย์เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของนักเรียนต้องลดน้อยถอยลงหรือได้ผลกระทบตามไปด้วย
3.ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ เพราะนักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงได้เห็นจริงและได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง การนำวิทยากรมาสู่ห้องเรียนหรือการพานักเรียนไปศึกษานอกโรงเรียน ทำให้นักเรียนได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการเรียนที่จำเจ ไปสู่การเรียนที่แปลกใหม่ นักเรียนจึงเกิดความสนใจและความกระตือรือร้นในการเรียน นอกจากนี้ การนำวัสดุในท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอนยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และของทางราชการอีกด้วย
4.ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูหรือขาดครูที่มีความรู้ความชำนาญในการสอนบางเนื้อหาบทเรียน การนำวิทยากรในท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถมากกว่าครูมาช่วยสอนทำให้นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจ อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เต็มตามหลักสูตร
5.การใช้วิทยากรหรือแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เกิดความเข้าใจกัน ให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัดการศึกษาหรือพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น
5. แนวทางการใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น
การใช้แหล่งการเรียนในท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมีแนวทางกว้างๆ ดังนี้
1.สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น จัดทำระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ทันสมัย สะดวกต่อการค้นหา
2.ศึกษาหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรต่างๆเพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับหลักสูตร
3.ประยุกต์ใช้วัสดุและเศษวัสดุที่มีในท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยยึดหลักการหรือความคิดรวบยอดตามหลักสูตรแกนกลาง ทดลองใช้จนเกิดความมั่นใจแล้วจึงได้นำมาให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ
4.ครูและนักเรียนร่วมมือกันเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนรู้ในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
5.บันทึกผลการเรียนการสอนโดยการใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและรูปภาพ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนา ปรับปรุง หรือนำมาใช้ในโอกาสต่อไป
6.ปรับปรุง แก้ไข พัฒนา การเรียนการสอนโดยใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพของการเรียนการสอนแล้ว ยังเห็นการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงเรียนได้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น