มโนทัศน์(Concept)
ในการทำงานหรือการประกอบกิจการใดก็ตามจะมีขั้นตอนในการดำเนินงานขั้นตอนหนึ่งซึ่งจะขาดเสียมิได้คือการประเมินผล (Evaluation) เพื่อให้ทราบว่าการทำงานหรือประกอบกิจกรรมนั้นๆ ได้ผลตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงใดมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้างเพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพัฒนาต่อไปในทางการศึกษาก็เช่นกันการที่จะทราบว่าการจัดการศึกษาบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้เพียงใดนั้นส่วนหนึ่งที่จะประเมินผลได้คือการประเมินหลักสูตร การประเมินผลหลักสูตรเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นว่าการกำหนดหลักสูตรไปใช้จะได้ผลมากน้อยเพียงใดเพราะฉะนั้นการประเมินหลักสูตรจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและผลที่ได้จากการประเมินหลักสูตรจะเป็นข้อมูลในการตัดสินเพื่อแก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
ผลการเรียนรู้(Learning Outcome)
1. มีความรู้ ความเข้าใจ กระบวนการพัฒนาหลักสูตร เรื่อง การประเมินหลักสูตร
2. สามารถให้คำแนะนำในการประสานตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประเมินหลักสูตร
สาระเนื้อหา(Content)
การประเมินหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรเป็นขั้นตอนในการศึกษาคุณค่าของว่าดีหรือไม่อย่างไรบกพร่องในส่วนไหนเพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงหลักสูตรในโอกาสต่อไปการประเมินหลักสูตรนั้นมีขอบเขตและระยะการประเมินแตกต่างกันออกไปแล้วแต่จุดประสงค์ของการประเมินเช่นการประเมินเอกสารหลักสูตรในระยะก่อนนำหลักสูตรไปใช้การประเมินการใช้หลักสูตรในขณะที่ดำเนินการใช้หลักสูตรหรือประเมินสัมฤทธิผลของหลักสูตรและประเมินระบบหลักสูตรหลังจากการใช้หลักสูตรแล้วการประเมินผลหลักสูตรนั้นต้องกำหนดลงไปให้แน่ชัดว่าต้องการประเมินอะไรข้อมูลที่นำมาประเมินต้องเชื่อถือได้การวิเคราะห์ผลการประเมินต้องทำอย่างรอบคอบ
การประเมินหลักสูตรต้องทำเป็นกระบวนการตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินวางแผนและออกแบบการประเมินรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลรายงานและสรุปผลการประเมินเพื่อที่จะนำผลที่ได้จากการประเมินไปปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรในโอกาสต่อไปจากขั้นตอนการประเมินนักศึกษาได้พัฒนารูปแบบการประเมินไว้หลายรูปแบบเป็นต้นว่ารูปแบบการประเมินหลักสูตรที่สร้างเสร็จใหม่ๆ ซึ่งเป็นการประเมินผลก่อนการนำหลักสูตรไปใช้เช่นรูปแบบการประเมินหลักสูตรด้วยเทคนิคการวิเคราะห์แบบปุยแซงค์หรือรูปแบบการประเมินหลักสูตรในระหว่างหรือหลังการใช้หลักสูตรเช่น รูปแบบการประเมินหลักสูตรของไทเลอร์, สเตค, สตัฟเฟิลบีมหรือดอริสโกว์ แต่ละรูปแบบแม้จะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเราก็สามารถนำแนวคิดในการประเมินหลักสูตรมาประยุกต์เป็นรูปแบบการประเมินหลักสูตรที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการจะประเมินนั้นๆ ได้
1. ความหมายของการประเมินหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศตลอดจนกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อนำมาตัดสินค่าหรือคุณภาพของหลักสูตรนั้นนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของการประเมินหลักสูตรไว้ต่างๆ กันดังนี้คือ
กู๊ด (Good, 1945 : 209) ได้ให้ความหมายไว้ว่าการประเมินหลักสูตรคือการประเมินผลของกิจกรรมการเรียนภายในขอบข่ายของการสอนที่เน้นเฉพาะจุดประสงค์ของการตัดสินใจในความถูกต้องของจุดมุ่งหมายความสัมพันธ์และความต่อเนื่องของเนื้อหาและผลสัมฤทธิ์ของวัตถุประสงค์เฉพาะซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจในการวางแผนการจัดโครงการต่อเนื่องและการหมุนเวียนของกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่จะจัดให้มีขึ้น
ลี ครอนบาช (Lee J. Cronbach, 1970: 231) ให้ความหมายว่าการประเมินหลักสูตรคือการรวบรวมข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจในเรื่องโปรแกรมหรือหลักสูตรการศึกษา
สตัฟเฟิลบีมและคณะ (Stufflebeam Daniel L. et., 1971: 128) ให้ความหมายของการประเมินหลักสูตรว่าการประเมินหลักสูตรคือกระบวนการหาข้อมูลเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีกว่าเดิม
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2521 : 192) ให้ความหมายของประเมินหลักสูตรไว้ว่าการประเมินหลักสูตรเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับคุณค่าของหลักสูตรโดยใช้ผลจากการวัดในแง่มุมต่างๆ ของสิ่งที่ประเมินเพื่อนำมาพิจารณาร่วมกันและสรุปว่าจะให้คุณค่าของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมานั้นว่าอย่างไรมีคุณภาพดีหรือไม่เพียงใดหรือได้ผลตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดหรือไม่มีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข
สุจริต เพียรชอบ (2548 : 64) กล่าวถึงการประเมินหลักสูตรไว้ว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญเพราะเป็นการหาคำตอบว่าหลักสูตรสัมฤทธิ์ผลตามที่ได้ตั้งจุดมุ่งหมายไว้หรือไม่มากน้อยเพียงใดอะไรเป็นสาเหตุผู้ประเมินหลักสูตรจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ดีทั้งทางด้านหลักสูตรและด้านการประเมินผลซึ่งจะต้องเน้นการประเมินทั้งโปรแกรมการศึกษามิใช่แต่เพียงผลการเรียนปีสุดท้ายเท่านั้นแต่ควรประเมินผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนด้วย
จากความหมายของการประเมินหลักสูตรที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่าการประเมินหลักสูตรคือกระบวนการในการพิจารณาตัดสินคุณค่าของหลักสูตรว่าหลักสูตรนั้นๆ มีประสิทธิภาพแค่ไหนเมื่อนำไปใช้แล้วบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไขเพื่อนำผลที่ได้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีกว่าต่อไป
2. จุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและมีขอบเขตที่กว้างขวางการประเมินหลักสูตรจะต้องครอบคลุมขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรเพราะฉะนั้นการประเมินหลักสูตรจึงมีขอบเขตของการประเมินที่กว้างขวางด้วยการประเมินหลักสูตรแต่ละจุดแต่ละขั้นตอนมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไปในรายละเอียดแต่โดยทั่วไปแล้วจุดมุ่งหมายใหญ่ของการประเมินหลักสูตรจะมีความใกล้เคียงกันจะขอยกตัวอย่างจุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตรที่นักศึกษาได้กล่าวไว้ดังนี้
ทาบา (Taba, 1962:310) ได้กล่าวไว้ว่าการประเมินหลักสูตรกระทำขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ ที่กำหนดไว้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดบ้างที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาการประเมินดังกล่าวจะครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของหลักสูตรและกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่จุดประสงค์ขอบเขตของเนื้อหาสาระคุณภาพของผู้ใช้บริหารและผู้ใช้หลักสูตรสมรรถภาพของผู้เรียนความสัมพันธ์ของวิชาต่างๆ การใช้สื่อและวัสดุการสอน ฯลฯ
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2537 : 218-219) กล่าวว่าการประเมินหลักสูตรโดยทั่วๆ ไปจะมีจุดมุ่งหมายดังนี้เพื่อหาคุณค่าของหลักสูตรโดยตรวจสอบดูว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมานั้นสามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่เพื่อวัดผลดูว่าการวางเค้าโครงและรูปแบบระบบของหลักสูตรรวมทั้งวัสดุประกอบหลักสูตรและการบริหารและบริการหลักสูตรเป็นไปในทางที่ถูกต้องแล้วหรือไม่การประเมินหลักสูตรจากผู้เรียนเองหรือการประเมินผลผลิตเพื่อตรวจสอบดูว่าลักษณะที่พึงประสงค์เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรหรือไม่เพียงใด
ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2539 : 192 – 193) กล่าวว่าโดยทั่วไปการประเมินหลักสูตรใดๆ ก็ตามจะมีจุดมุ่งหมายสำคัญที่คล้ายคลึงกันดังนี้คือเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขสิ่งบกพร่องที่พบในองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารหลักสูตรการนิเทศกำกับดูแลการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารว่าควรใช้หลักสูตรต่อไปอีกหรือควรยกเลิกการใช้หลักสูตรเพียงบางส่วนหรือยกเลิกทั้งหมดเพื่อต้องการทราบคุณภาพของผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตของหลักสูตรว่ามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามความมุ่งหวังของหลักสูตรหลักจากผ่านกระบวนการทางการศึกษามาแล้วหรือไม่อย่างไรจากจุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตรข้างต้นพอสรุปได้ว่าการประเมินผลหลักสูตรมีจุดมุ่งหมายดังนี้เพื่อหาคุณค่าของหลักสูตรนั้นโดยดูว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้นสามารถสนองวัตถุประสงค์ที่ต้องการหรือไม่หลักสูตรนั้นต้องการหรือไม่สนองความต้องการของผู้เรียนและสังคมอย่างไรเพื่ออธิบายและพิจารณาว่าลักษณะของส่วนประกอบต่างๆ ของหลักสูตรในแง่ต่างๆ เช่นหลักการจุดมุ่งหมายเนื้อหาสาระการเรียนรู้กิจกรรมการเรียนการสอนสื่อการเรียนการสอนและการวัดผลว่าสอดคล้องต้องกันหรือไม่หรือสนองความต้องการหรือไม่เพื่อตัดสินว่าหลักสูตรมีคุณภาพดีหรือไม่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้มีข้อบกพร่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้างการประเมินผลในลักษณะนี้มักจะดำเนินไปในช่วงที่การพัฒนาหลักสูตรยังคงดำเนินการอยู่เพื่อที่จะพิจารณาว่าองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรเช่นจุดหมายโครงสร้างเนื้อหาการวัดผลฯลฯมีความสอดคล้องและเหมาะสมหรือไม่สามารถนำมาปฏิบัติในช่วงการนำหลักสูตรไปทดลองใช้หรือในขณะที่การใช้หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนกำลังดำเนินอยู่ได้มากน้อยเพียงใดได้ผลเพียงใดและมีปัญหาอุปสรรคอะไรจะได้เป็นประโยชน์แก่นักพัฒนาหลักสูตรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรให้มีคุณภาพดีขึ้นได้ทันท่วงทีเพื่อตัดสินว่าการบริหารงานด้านวิชาการและบริหารงานด้านหลักสูตรเป็นไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่เพื่อหาทางแก้ไขระบบการบริหารหลักสูตรการนำหลักสูตรไปใช้ให้มีประสิทธิภาพเพื่อติดตามผลผลิตจากหลักสูตรคือผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากการผ่านกระบวนการทางการศึกษามาแล้วตามหลักสูตรว่าเป็นไปตามมุ่งหวังหรือไม่เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขสิ่งบกพร่องที่พบในองค์ประกอบต่างๆ ในหลักสูตรเพื่อช่วยในการตัดสินว่าควรใช้หลักสูตรต่อไปหรือควรปรับปรุงพัฒนาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือยกเลิกใช้หลักสูตรนั้นหมดการประเมินผลในลักษณะนี้จะดำเนินการหลังจากที่ใช้หลักสูตรไปแล้วระยะหนึ่งแล้วจึงประเมินเพื่อสรุปผลตัดสินว่าหลักสูตรมีคุณภาพดีหรือไม่บรรลุตามเป้าหมายที่หลักสูตรกำหนดไว้มากน้อยเพียงใดสนองความต้องการของสังคมเพียงใดและเหมาะสมกับการนำไปใช้ต่อไปหรือไม่จากจุดมุ่งหมายของการประเมินผลหลักสูตรต่างๆข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการประเมินจะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาของสังคมซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพของประชากรในการพัฒนาสังคมในอนาคตต่อไปดังนั้นการประเมินผลหลักสูตรซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งไม่น้อยไปกว่ากระบวนการในการจัดการศึกษาในส่วนอื่นๆ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ควรจะต้องหาวิธีการที่ดีที่สุดในการที่ประเมินผลหลักสูตรเพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามขั้นตอนของวิธีการต่างๆ ที่นำมาใช้
3. ระยะของการประเมินหลักสูตร
การประเมินหลักสูตรควรมีการดำเนินเป็นระยะๆ ทั้งนี้เนื่องจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของหลักสูตรอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและในระยะต่างกันเช่นอาจมีสาเหตุมาจากตอนจัดทำหรือ ยกร่างหลักสูตรซึ่งทำให้ตัวหลักสูตรไม่มีคุณภาพที่ดีหรือไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหรืออาจมีสาเหตุมาจากตอนนำหลักสูตรไปใช้เป็นต้นการประเมินหลักสูตรที่ดีจึงต้องตรวจสอบเป็นระยะเพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น3 ระยะคือ
ระยะที่ 1 การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ (Project Analysis)
ในช่วงระหว่างที่มีการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรอาจมีการดำเนินการตรวจสอบทุกขั้นตอนของการจัดทำนับแต่การกำหนดจุดมุ่งหมายไปจนถึงการกำหนดการวัดและประเมินผลการเรียนซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะคือ
1. ประเมินหลักสูตรเมื่อสร้างหลักสูตรฉบับร่างเสร็จแล้วก่อนจะนำหลักสูตรไปใช้จริงควรมีการประเมินตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรฉบับร่างและองค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรการประเมินหลักสูตรในระยะนี้ต้องอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาหลักสูตรทางด้านวิชาชีพครูทางด้านการวัดผลหรือจะให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หรือพิจารณาก็ได้
2. ประเมินผลในขั้นตอนทดลองใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ขาดตกบกพร่องหรือเป็นปัญหาให้มีความสมบูรณ์เพื่อประสิทธิภาพในการนำไปใช้ต่อไปเช่นหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 มีการทดลองใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และ 2520 เพื่อหาข้อบกพร่องอุปสรรคจะได้แก้ไขให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
ระยะที่ 2 การประเมินหลักสูตรระหว่างการดำเนินการใช้หลักสูตร (Formative Evaluation)
ในขณะที่มีการดำเนินการใช้หลักสูตรที่จัดทำขึ้นควรมีการประเมินเพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรสามารถนำไปใช้ได้ดีเพียงใดหรือบกพร่องในจุดไหนจะได้แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมเช่นประเมินกระบวนการใช้หลักสูตรในด้านการบริหารการจัดการหลักสูตรการนิเทศกำกับดูแลและการจัดกระบวนการเรียนการสอน
ระยะที่ 3 การประเมินหลักสูตรหลังการใช้หลักสูตร (Summative Evaluation)
หลังจากที่มีการใช้หลักสูตรมาแล้วระยะหนึ่งคือครบกระบวนการเรียบร้อยแล้วควรจะประเมินหลักสูตรทั้งระบบซึ่งได้แก่การประเมินองค์ประกอบด้านต่างๆ ของหลักสูตรทั้งหมดคือเอกสารหลักสูตรวัสดุหลักสูตรบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรการบริหารหลักสูตรการนิเทศกำกับติดตามการจัดกระบวนการเรียนการสอน ฯลฯ เพื่อสรุปผลตัดสินว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้นควรจะดำเนินการใช้ต่อไปหรือควรปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นหรือควรจะยกเลิกเช่นหลักสูตรประถมศึกษาพุทธศักราช 2521 มีช่วงระยะการใช้งาน 6 ปีเมื่อครบ 6 ปีแล้วจะมีการประเมินผลหลักสูตรรวบยอดทั้งหมดโดยนำข้อมูลตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 2 มารวบรวมวิเคราะห์และประเมินคุณค่าทั้งนี้อาจจะต้องอาศัยข้อมูลที่สำคัญอีกบางข้อมูลเช่นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนซึ่งได้แก่การนำไปใช้ในการดำรงชีวิตการประกอบอาชีพเข้ามาประกอบการวิเคราะห์และประเมินค่าด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น