วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กิจกรรมบทที่ 8

1.       สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรท้องถิ่น

หลักสูตรท้องถิ่น : การจักสานไม้ไผ่

         สมัยโบราณ ชาวบ้านนิยมนำไม้ไผ่มาจักสานทำเครื่องใช้ในครัวเรือน เนื่องจากหมู่บ้านอยู่แถบริมแม่น้ำเจ้าพระยามีต้นไผ่สีสุกจำนวนมาก พื้นที่รอบหมู่บ้านมีความชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านบ้านท่าแขกและหมู่บ้านใกล้เคียงในอำเภอมโนรมย์ ถูกปลูกฝังการใช้ชีวิต และซึมซับภูมิปัญญาในการทำนาและการจักสานมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุ โดยการนำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในหมู่บ้านมาสานทำเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เครื่องมือหาปลา กระด้ง ตะแกรง กระบุง สุ่ม หวด ตะข้อง ไซ ฯลฯ เมื่อเหลือใช้ก็นำไปขายที่ตลาดในเมือง แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ในปี พ.ศ. 2544 จึงได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มจักสานขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งมีคนในหมู่บ้านข้างเคียงมาเข้าร่วมกลุ่มด้วย โดยมีนายประทุม คล้ายสุข เป็นประธานกลุ่ม ได้นำผลิตภัณฑ์จักสานของกลุ่มออกขายทั้งในและต่างจังหวัด ในขณะเดียวกันสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งมีภูมิปัญญาในการจักสานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้พัฒนารูปแบบ ลวดลายในการจักสานเพิ่มขึ้นอีกหลายรูปแบบ ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์จักสานที่ขึ้นชื่อของกลุ่มจักสานบ้านท่าแขก คือ กระโล่ ลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายพิกุล , ลายไทยรูปหัวใจ, ลายไทยข้าวหลามตัด, ลายกะบาท ซึ่งสมาชิกผู้มีความชำนาญในการพลิกแพลงรูปแบบลวดลายซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ คือ นางนฤมล ลาดเพชร, นางสุริยันต์ แก้วโพธิ์, นางสถาพร อ่อนศรี และนางสาวเกศนีย์ สุ่มทอง ส่วนสมาชิกที่อาวุโสที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน คือ นางเกลียว คล้ายสุข และนางเกลียว เรือนคุ้ม สาเหตุที่ภูมิปัญญาในการจักสานไม่สูญหายไปเพราะมีการถ่ายความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนทั้งในและนอกระบบโรงเรียนอีกด้วย และในปี พ.ศ.2553 กลุ่มได้ส่งจักสาน “กระโล่ลายพิกุล” เข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ได้รับคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว การจักสานผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นต้องใช้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
         การจักสานเป็นงานที่ละเอียดประณีต ผู้ที่จะสามารถทำได้จะต้องคลุกคลีหรือมีผูกพันโดยเฉพาะจึงจะทำได้ ดังนั้น การจักสานไม้ไผ่บ้านท่าแขก จึงเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาซึ่งกันและกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย มีการรวมกลุ่มกันผลิตผลงานโดยใช้ศิลปะภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ตามความต้องการของตลาด และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถแยกสมาชิกกลุ่มผู้มีภูมิปัญญาด้านการจักสานได้ 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 60 ขึ้นไป , อายุ 40 – 59 และ อายุ 25- 39 ดังนั้นจึงคิดว่าภูมิปัญญาด้านการจักสานของบ้านท่าแขกจะยังไม่สูญหายไปจากสังคม หากมีการส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาต่อไปเหมือนเช่นในปัจจุบัน
การดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม และการถ่ายทอดภูมิปัญญา
อุปกรณ์
1. ไม้ไผ่สีสุก                             8. บุ้ง
2. หวายแก้ว                              9. แปรงทาน้ำมัน
3. น้ำมันวานิช                           10. ปืนยิงลูกแม็ก / ลูกแม็ก
4. น้ำมันสน                               11. ฆ้อน
5. ลวด                                     12. กรรไกร
6. มีดเหลาดอก                         13. คีม
7. เลื่อยโค้ง                              14. สิ่ว
 ขั้นตอนการจักสาน
1) เลือกไม้ไผ่ที่ปล้องยาวสีสด  
2) เลื่อยไม้ไผ่เป็นปล้อง ๆ และผ่าเป็นซีก
3) จักตอกเป็นเส้นๆ และเหลาให้เรียบ ขนาดตามต้องการ
4) นำตอกมาสานขึ้นรูปจากพื้นก่อน เสร็จแล้วนำไปเข้าขอบโดยการใช้พิมพ์
5) นำผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จแล้วไปรมควันไฟ หรือทาน้ำมันสน ยูรีเทน เพื่อความคงทน และกันมอด
ขั้นตอนการผลิต
1) ใช้ไม้ไผ่สีสุก เพราะเนื้อไม้มีเส้นใยประสานกันแน่น มีความเหนียวและยืดหยุ่นในตัว
2) บ่มไม้ประมาณ 2 – 3 วัน เพื่อให้ไม้เหลืองสวยไม่กรอบ
3) มีความละเอียดประณีต สวยงาม
4) มีการออกแบบลวดลายใหม่ ๆ


2.       ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ “ปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตร : ปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด SU Model”

SU Model

กระบวนการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด แบบจำลอง SU Model

SU Model คือ รูปแบบจำลองโลกแห่งการศึกษา โดยประกอบด้วยวงกลม ซึ่งเปรียบเสมือนโลกที่มีองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1) พื้นฐานทางปรัชญา 2) พื้นฐานทางจิตวิทยา และ 3) พื้นฐานทางสังคม โดยมีสามเหลี่ยมแห่งการศึกษาที่มีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่
·       ด้านความรู้ กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) ซึ่งมีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และ ปรัชญานิรันดรนิยม (Perenialism) ที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุผล เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระที่มั่นคง
·       ด้านผู้เรียน กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งมีแนวคิดที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการเลือกด้วยตนเอง มีแนวทางการจัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
·       ด้านสังคม จะกำกับด้วยปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เนื่องจากสังคมมีปัญหา
               กระบวนการพัฒนาหลักสูตร (สามเหลี่ยมใหญ่) จะประกอบด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตร(สามเหลี่ยมเล็กๆ  ภาพ) โดยประกอบด้วย ขั้นตอนดังนี้
สามเหลี่ยมแรก เป็นการวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) อาศัยแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ คำถามที่หนึ่งคือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพราะว่าหลักสูตรต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อนำไปวางแผนหลักสูตร มีการกำหนดจุดหมายของหลักสูตร
              สามเหลี่ยมรูปที่สอง เป็นการออกแบบ (Curriculum Design) ซึ่งจะนำจุดหมายและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มาจัดทำกรอบปฏิบัติ หลักสูตรที่จัดทำขึ้น จะมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาตามกระบวนการของหลักสูตร และหรือ มีผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์ คือ มีประสบการณ์ศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา การออกแบบหลักสูตรมีสาระสำคัญทั้งในด้านกระบวนการ และด้านการพัฒนาผู้เรียน หรือ การออกแบบหลักสูตรมุ่งเน้นความรู้ตามหลักสูตรหรือเนื้อหาสาระ และผลผลิตของหลักสูตร การออกแบบหลักสูตรก็เพื่อให้มีกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ตอบสนองจุดหมาย (aim) และจุดมุ่งหมาย (goal) ของหลักสูตร
              สามเหลี่ยมรูปที่สาม เป็นการจัดระบบหลักสูตร (Curriculum Organize) ซึ่งจะสังเกตเห็นว่ารูปสามเหลี่ยมนี้กลับหัวคล้ายเงาสะท้อนของสามเหลี่ยมรูปแรก ในทางปฏิบัติการจัดระบบหลักสูตรเพื่อให้ตอบสนองการวางแผนหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือจัดประสบการณ์เรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ในที่นี้การจัดระบบหลักสูตรให้ได้ประสิทธิภาพมีความหมายรวมถึง การบริหารจัดการหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ กล่าวคือ กระบวนการบริหารที่สนับสนุนการจัดประสบการณ์เรียนรู้ ที่มีประสิทธิผลมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนิเทศการศึกษา การนิเทศการสอนจะมีบทบาทสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม
              สามเหลี่ยมรูปที่สี่ การประเมิน (Curriculum Evaluation) เป็นการประเมินทั้งระบบหลักสูตรและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร สอดคล้องกับคำถามที่สี่ของไทเลอร์คือ ประเมินประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร เพราะว่าการประเมินผลการเรียน ความรู้และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น