แบบจำลองพัฒนาหลักสูตร
“แบบจำลอง (Model) บางแห่งเรียกว่า รูปแบบ โอลิวา เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ในสาขาวิชาการพัฒนาหลักสูตร” เป็นการนำเสนอภาพความคิดที่ได้จากการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ตั้งแต่เริ่มต้น กระบวนการ และย้อนกลับมาเริ่มต้น เป็นวัฎจักร ซึ่งเป็นรูปแบบที่จำเป็นในการให้บริการในลักษณะของข้อแนะในการปฏิบัติ ซึ่งสามารถพบได้ในเกือบจะทุกแบบของกิจกรรมทางการศึกษา ในเชิงวิชาชีพแล้วมีแบบจำลองจำนวนมาก เช่น แบบจำลองการเรียนการสอน (models of instruction) แบบจำลองการบริหาร (models of administration) แบบจำลองการประเมินผล (models of evaluation) และ แบบจำลองการนิเทศ (models of supervision) เป็นต้น
แบบจำลองบางรูปแบบที่พบในวรรณกรรมต่างๆ บางแบบก็เป็นแบบง่ายๆ บางแบบก็มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก และยิ่งมีความซับซ้อนมากเท่าใดก็ยิ่งมีความใกล้กับความเป็นวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มากขึ้นเท่านั้น บางแบบจำลองใช้แผนภูมิซึ่งประกอบด้วยสี่เหลี่ยมจัตุรัส กล่อง วงกลม สี่เหลี่ยมผืนผ้า ลูกศรและอื่นๆ ในสาขาวิชาที่เฉพาะเจาะจง (เช่น การบริหาร การเรียนการสอน การนิเทศ หรือ การพัฒนาหลักสูตร) แบบจำลองอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน โดยที่ความคล้ายคลึงจะมีน้ำหนักมากกว่าแบบจำลองแต่ละแบบดังกล่าวเหล่านี้ บ่อยครั้งจะได้รับการกลั่นกลองและปรับปรุงจากแบบจำลองเดิมที่มีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้หลักสูตรหรือผู้ปฏิบัติหลักสูตร ต้องรับผิดชอบต่อการเลือกใช้แบบจำลองที่มีอยู่แล้วในแต่ละสาขาวิชา และหากไม่ชอบใจก็อาจจะออกแบบจำลองของตนเองขึ้นใหม่ได้ โดยมิได้ปฏิเสธแบบจำลองทั้งหมดที่มีอยู่เดิม และอาจจะนำลำดับและขั้นตอนในแบบจำลองที่มีอยู่นั้นมารวมเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นแบบจำลองที่นำไปสู่การปฏิบัติได้แทนที่จะเริ่มใหม่ทั้งหมด
แบบจำลองทางสาขาวิชาหลักสูตรที่เป็นที่รู้จักกันดี มักจะเรียกชื่อแบบจำลองตามชื่อของผู้ที่นำเสนอความคิดนั้น ๆ ในสาขาวิชาหลักสูตร ได้แก่ ไทเลอร์ (Tyler) ทาบา (Taba) เซเลอร์และ อเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexandder) วีลเลอร์และนิโคลส์ (Wheeler and Nicholls) วอคเกอร์ (Walker) สกิลเบค (Skilbeck) โอลิวา (Oliva) และ พรินท์ (Print)
แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร
จากการศึกษาแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของนักพัฒนาหลักสูตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าแนวคิดของแต่ละบุคคลมีองค์ประกอบอยู่ในแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน แต่ละแบบจำลองเน้นให้หลักสูตรครอบคลุมถึงความหลากหลายของการจัดการศึกษา ในที่นี้จะขอสรุปแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดของ Tyle/ Saylor, Alexander and Lewis/ Oliva / วิชัย วงษ์ใหญ่ และ SU Model ดังนี้
1.แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของ Tyler ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักสูตร
ขั้นที่ 1 ศึกษาจากแหล่งข้อมูลทั้งด้านสังคม เนื้อหา และผู้เรียน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลให้เชื่อมโยงกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
ขั้นที่ 2 นำจุดประสงค์มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลสังคมและข้อมูลจากชุมชนท้องถิ่น รวมถึงนำเนื้อหา สาระหลักวิชามาวิเคราะห์ร่วมด้วยเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์(ฉบับร่าง)
ขั้นที่ 3 กลั่นกรองวัตถุประสงค์โดยใช้ข้อมูลจากปรัชญาสังคมและปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน รวมถึงกลั่นกรองด้วยพื้นฐานทางจิตวิทยา
ขั้นที่ 4 การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
ขั้นที่ 5 การจัดระบบโครงสร้างประสบการณ์การเรียนรู้
ขั้นที่ 6 การประเมินผลการเรียนรู้
สำหรับประสบการณ์การเรียนรู้ในความหมายของข้าพเจ้า คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของตนเอง
2.แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของ Saylor, Alexander and Lewis ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 กำหนดจุดหมาย (Goal) วัตถุประสงค์ (objectives) และขอบข่ายที่ต้องการพัฒนา (Domain) พิจารณาจากตัวแปรภายนอก เช่น ผลการศึกษาจากการวิจัย กฎหมาย สมาคมวิชาชีพ นโยบายรัฐ และต้องคำนึงถึงพื้นฐานด้านสังคม ผู้เรียน และความรู้
ขั้นที่ 2 การออกแบบหลักสูตร ระบุวัน เวลา และวิธีการในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งต้องคำนึงถึง ธรรมชาติของวิชา สถาบันที่เกี่ยวข้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
ขั้นที่ 3 การนำหลักสูตรไปใช้ ผู้สอนจะเลือกวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ขั้นที่ 4 การประเมินหลักสูตร โดยใช้เทคนิคผสมผสาน ทั้งประเมินจุดเด่นและจุดด้อยของระบบการศึกษาของทั้งหมดโรงเรียน ซึ่งเน้นไปที่ 2 ส่วนได้แก่ 1.การประเมินการใช้หลักสูตรทั้งโรงเรียน จะประเมินเป้าหมาย วัตถุประสงค์ จุดประสงค์การเรียน ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการจัดการเรียนการสอน 2. การประเมินหลักสูตรทั้งระบบ ตั้งแต่ออกแบบ นำหลักสูตรไปใช้ เพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับว่าหลักสูตรมีประสิทธิภาพเพียงใด
3. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของ Oliva แสดงถึงความสัมพันธ์ของหลักสูตรและการเรียนการสอนเป็น 12 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 แสดงจุดหมายของการศึกษา โดยศึกษาจากความต้องการจำเป็นของผู้เรียนและสังคม อาศัยหลักปรัชญา และจิตวิทยา ซึ่งจะคล้ายคลึงกันกับขั้นกลั่นกรองของ Tyler
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของผู้เรียนและชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่ แล้วกลั่นกรองให้ได้เป้าหมาย และจุดม่งหมายเฉพาะของหลักสูตร รวมถึงเนื้อหาที่จะนำมาสอน
ขั้นที่ 3-4 กำหนดวัตถุประสงค์จากข้อมูลข้างต้น
ขั้นที่ 5 วางนโยบาย และจัดโครงสร้างการบริหารหลักสูตร เพื่อจัดการหลักสูตรและนำหลักสูตรไปใช้
ขั้นที่ 6-7 ระบุความแตกต่างของ จุดหมายของการเรียนการสอน และวัตถุประสงค์ของรายวิชาในแต่ละระดับการศึกษา
ขั้นที่ 8 ผู้สอนเลือกวิธีการสอนเพื่อนำไปใช้ในห้องเรียน
ขั้นที่ 9 เลือกเทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
ขั้นที่ 10 จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแผนที่วางไว้
ขั้นที่ 11 เก็บรวบรวมข้อมูลประเมินผลการเรียนการสอน
ขั้นที่ 12 ประเมินหลักสูตรทั้งระบบ
ซึ่งแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของ Oliva นี้จะมีการให้ข้อมูลย้อนกลับซึ่งทำให้เห็นว่าหลักสูตรมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
4. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของวิชัย วงษ์ใหญ่ มีชื่อว่า แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร (Integrated Curriculum Development) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ระบบร่างหลักสูตร ระบบการใช้หลักสูตร และระบบการประเมินหลักสูตร โดยจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และวิชัย วงษ์ใหญ่ ยังได้ให้รูปแบบและขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรและการสอนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2552 โดยให้ขั้นตอนไว้ดังนี้
ขั้นที่ 1 นักพัฒนาหลักสูตรใช้พื้นฐานข้อมูลด้านสังคมและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชามากำหนดจุดมุ่งหมาย หลักการและโครงสร้าง และออกแบบหลักสูตรขึ้นมา
ขั้นที่ 2 ยกร่างเนื้อหาสาระ ประสบการณ์ หน่วยการเรียน และรายวิชา โดยนักพัฒนาหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชา จะกำหนดผลการเรียนรู้ จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม วางแผนการสอน ทำบันทึกการสอน ทำสื่อการสอน และจัดกิจกรรมการสอนรายกลุ่มหรือบุคคล
ขั้นที่ 3 ทดลองใช้หลักสูตรในสถานศึกษานำร่อง
ขั้นที่ 4 อบรมบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับให้เข้าใจหลักสูตรใหม่ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
ขั้นที่ 5 ปฏิบัติการสอน ใช้หลักสูตรก่อนการประกาศใช้ โดยในขั้นนี้จะแบ่งย่อยได้อีก 4 ขั้นตอนได้แก่ 1. แปลงหลักสูตรไปสู่การสอน ถือเป็นการจัดทำเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆที่จะนำไปใช้ในการเรียนการสอน2. ผู้บริหารจัดเตรียมบุคลากร เครื่องมือ และแหล่งการเรียนรู้ 3. ผู้สอนจัดการเรียนการสอน 4. ประเมินผลการเรียนรู้ และประเมินหลักสูตร
สุเทพ อ่วมเจริญ (2557: 22) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนในรูปแบบของวิธีการเชิงระบบ และระบบการพัฒนาหลักสูตรแบบลิเนียโมเดลได้เป็น 2 ระบบ คือ มิติด้านหลักสูตร เพื่อต้องการทราบว่าจะสอนอะไร ซึ่งจะกำหนดจุดประสงค์และสาระมาตรฐาน และ มิติด้านการสอนเพื่อต้องการทราบว่าจะสอนอย่างไร ซึ่งจะกำหนดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินผล
5. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model
สุเทพ อ่วมเจริญ (2557: 23) ได้ประมวลผลจากแนวคิดของนักพัฒนาหลักสูตรทั้งต่างประเทศและในไทย ร่วมกับการศึกษางานวิจัยและประสบการณ์การสอนในสถาบันอุดมศึกษา ได้มโนทัศน์ที่เป็นแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร SU Model ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังภาพประกอบ
ที่มา: สุเทพ อ่วมเจริญ (2557: 23)
ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนหลักสูตร (Curriculum Planning) จะสอดคล้องกับ คำถามข้อที่ 1 ของ Tyler ที่ว่าจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา นักพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงเป้าหมายหลักสูตรที่เน้นด้านความรู้ ด้านผู้เรียน และด้านสังคม โดยต้องอาศัยพื้นฐานที่สำคัญด้านต่างๆในการพัฒนาหลักสูตร ทั้งพื้นฐานด้านปรัชญา พื้นฐานด้านจิตวิทยา และพื้นฐานด้านสังคมและวัฒนธรรม และอาจมีพื้นฐานด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกกจากนี้นักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาร่วมใช้ในการวางแผนหลักสูตรทั้งในเรื่องของ สี่เสาหลักการศึกษา/ ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตของคนในศตวรรษที่ 21/ พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม/ การศึกษามาตรฐานสากล/ และการวางแผนสำหรับผู้เรียนทุกคน (Developed planning for all learners: PAL)โดย Grace Meo ซึ่งแผนนี้อยู่บนฐานของแนวคิดการออกแบบสากลเพื่อการเรียนรู้ (Universal Design for learning: UDL) สำหรับผลลัพธ์ของขั้นตอนนี้คือ วิสัยทัศน์ของหลักสูตร
ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design) จะสอดคล้องกับคำถามข้อที่ 2 ของ Tyler ที่ว่าประสบการณ์การศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัด เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษา ซึ่งการออกแบบหลักสูตรจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดจุดมุ่งหมายและจุดประสงค์ของหลักสูตร นำไปสู่การจัดเนื้อหาสาระ เพื่อช่วยให้ผู้สอนเลือกและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสม และรวมไปถึงการประเมินผลด้วย โดยนักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาร่วมใช้ในการออกแบบหลักสูตรทั้งในเรื่องของ World Class Education/ โมเดลต้นแบบเชิงวัตถุประสงค์ / รูปแบบการออกแบบหลักสูตรเน้นเนื้อหาวิชา เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญ/ แนวคิดการออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมความเป็นเลิศของผู้เรียนและผู้สอน ม.กริฟฟิธ/หลักการออกแบบหลักสูตร 7 ประการของสก๊อตแลนต์/ การปรับปรุงโมเดลโดยฮิลดา ทาบา/ การออกแบบหลักสูตรแบบ Backward Design/ การออกแบบหลักสูตรรายวิชา ตามแนวคิดของเวสมินส์เตอร์ เอ็กเชงจ์ มหาวิทยาลัยเวสมินเตอร์ / การออกแบบหลักสูตรด้วยแนวคิดวัตถุประสงค์เป็นพื้นฐาน สำหรับผลลัพธ์ของขั้นตอนนี้คือ พันธกิจของหลักสูตร
ขั้นตอนที่ 3 การจัดการหลักสูตร (Curriculum Organization) จะสอดคล้องกับคำถามข้อที่ 3 ของ Tyler ที่ว่า จัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ และยังรวมไปถึงการนิเทศการศึกษา และการนิเทศการสอน โดยนักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาร่วมใช้ในการจัดการหลักสูตรทั้งในเรื่องของ แนวคิดการจัดระบบหลักสูตรที่ดีตามแนวคิดของออร์นสไตน์และฮันกิน และเฮนสัน/ ทฤษฏีการเรียนรู้ของบลูมและทฤษฏีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม มนุษย์นิยม และสร้างสรรค์นิยม/ แนวคิดการออกแบบการเรียนการสอนตามแบบจำลอง ADDIE / หลักการเบื้องต้นวิธีการสอนที่ได้ผลของมาซาโน/ การเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง/ การเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้ด้วยแบบจำลอง John Biggs’ 3-P Model สำหรับผลลัพธ์ของขั้นตอนนี้คือ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation) จะสอดคล้องกับคำถามข้อที่ 4 ของ Tyler ที่ว่า ประเมินประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร โดยจะมีทั้งการประเมินทั้งระบบหลักสูตร และประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร โดยนักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาประเด็นต่างๆ เพื่อนำมาร่วมใช้ในการประเมินหลักสูตรทั้งในเรื่องของ แนวคิดการประเมินหลักสูตร/ แบบประเมินหลักสูตรCIPP/ การประเมินการเรียนรู้ตามหลักสูตร CBA/ การกำหนดเกณฑ์การประเมินการเรียนรู้โดยใช้ SOLO Taxonomy สำหรับผลลัพธ์ของขั้นการประเมินในมิติด้านการเรียนการสอนคือ แผนการประเมินหลักสูตร
สรุปจากที่มา:
สุเทพ อ่วมเจริญ. (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฏีและการปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 6). คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สุเทพ อ่วมเจริญ. (2557). การพัฒนาหลักสูตร: ทฤษฏีและการปฏิบัติ (พิมพ์ครั้งที่ 6). คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น